วันเสาร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2557

เทคโนโลยีคือ?

เทคโนโลยี (Technology)         
         เทคโนโลยี (Technology)  มาจากภาษาลาตินว่า Texere แปลว่า การสาน (To weave) หรืออีกนัยหนึ่งมาจากคำว่า “Technologia” ซึ่งมาจากภาษากรีก หมายถึง การทำอย่างมีระบบ ซึ่งได้มีผู้ให้นิยามต่างๆ ไว้ดังนี้
         คาร์เตอร์ วี กูด (Carter V.Good, 1973) ให้ความหมายไว้ว่า เทคโนโลยี   หมายถึง การนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้งานด้านต่างๆ เพื่อปรับปรุงระบบนั้นๆ
          เจมส์ ดี ฟินส์ (Jemes D.Finn, 1972)  กล่าวว่า  เทคโนโลยีมีความหมายลึกซึ้ง ไปกว่าประดิษฐ์กรรม เครื่องมือ เครื่องยนต์กลไกต่างๆ แต่หมายถึง กระบวนการ แนวความคิด แนวทาง หรือวิธีการในการคิด ในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
            เอดการ์ เดล (Edgar Dale, 1969) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เทคโนโลยี มิใช่เครื่องมือ เครื่องยนต์กลไกต่างๆ  แต่เป็นแผนงาน วิธีการทำงานอย่างมีระบบ ที่ทำให้งานนั้นบรรลุตามแผนงานที่วางไว้
              พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมาย “เทคโนโลยี” ไว้ว่าเป็นวิทยาการที่เกี่ยวกับศิลปะในการนำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติและอุตสาหกรรม
         
              จากแนวคิดต่างๆ อาจกล่าวได้ว่า “ทคโนโลยี” หมายถึง การนำแนวคิด หลักการ เทคนิค วิธีการ กระบวนการ ตลอดจนผลิตผลทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในระบบงานต่างๆ เพื่อปรับปรุงระบบงานนั้นๆ ให้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
           จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันในวงการต่างๆ เช่น เกษตร แพทย์ อุตสาหกรรม ธุรกิจ ทหาร  ต่างก็นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาขาวิชาชีพของตนอย่างเต็มที่อันจะเอื้ออำนวยในด้านต่างๆ ดังนี้ 
                  1. ด้านประสิทธิภาพ (Efficiency) เทคโนโลยีจะช่วยให้การทำงานนั้นสามารถบรรลุผลตามเป้าหมายได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
                  2. ด้านประสิทธิผล (Effectiveness) เทคโนโลยีจะช่วยให้การงานนั้นได้ผลผลิตออกมาอย่างเต็มที่
                  3. ประหยัด (Economy) จะช่วยประหยัดเวลา ทรัพยากร และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันจะเป็นผลทำให้ราคาของผลิตนั้นราคาถูกลง
                  4. ปลอดภัย (Safety) เป็นระบบการทำงานที่อำนวยให้เกิดความปลอดภัยเพิ่มขึ้น
            ในปัจจุบัน  ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆ ในหลายวงการ จากประโยชน์นานัปการที่ได้รับจากเทคโนโลยีที่มีต่อการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น ทางด้านการศึกษา  ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เรียกว่า เทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology)  ทั้งนี้  เพื่อมุ่งเน้นให้การดำเนินการจัดการศึกษา ซึ่งเป็นหลักที่สำคัญในการพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
            ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2526)  ได้ให้นิยามไว้ว่า “เทคโนโลยีการศึกษา”เป็นระบบการประยุกต์ผลิตกรรมทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ วัสดุและผลิตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ อุปกรณ์โดยยึดหลักการทางพฤติกรรมศาสตร์ ได้แก่ วิธีการ มาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษา ทั้งด้านการบริหาร หรืออีกนัยหนึ่ง เทคโนโลยีการศึกษา เป็นระบบการนำวัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการศึกษาให้สูงขึ้น
            สันทัด และ พิมพ์ใจ (2525) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษา หมายถึง การนำเอาความรู้ แนวความคิด กระบวนการ ตลอดจนวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ร่วมกันอย่างมีระบบเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ
            คาร์เตอร์ วี กูด (Carter V.Good, 1973) ได้กล่าวว่า “เทคโนโลยีการศึกษา”หมายถึง การนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เพื่อการออกแบบและส่งเสริมระบบการเรียนการสอน โดยเน้นที่วัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่สามารถวัดได้อย่างถูกต้องแน่นอน  มีการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียน มากกว่าที่จะยึดเนื้อหาวิชา มีการใช้การศึกษาเชิงปฏิบัติ โดยผ่านการวิเคราะห์และการใช้เครื่องมือโสตทัศนูปกรณ์ รวมถึงเทคนิคการสอนโดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ สื่อการสอนต่างๆ ในลักษณะของสื่อประสมและการศึกษาด้วยตนเอง           
            กิดานันท์ มลิทอง (2543) ได้ให้ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษาว่า เป็นการประยุกต์เอาเทคนิค วิธีการ แนวความคิด วัสดุอุปกรณ์และสิ่งต่างๆ อันสืบเนื่องมาจากเทคโนโลยีมาใช้ในวงการศึกษา 
            คณะกรรมการกำหนดศัพท์และความหมายของสมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาของสหรัฐอเมริกา (AECT, 1979) อธิบายว่า “เทคโนโลยีการศึกษา” (Educational Technology) เป็นกระบวนการที่มีการบูรณาการอย่างซับซ้อน เกี่ยวกับบุคคล กรรมวิธี แนวคิด เครื่องมือและองค์กร เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์ปัญหา การสร้าง การประยุกต์ใช้ การประเมินผลและจัดการแก้ปัญหาต่างๆ ดังกล่าว ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์ในทุกลักษณะ หรืออาจได้ว่า “เทคโนโลยีการศึกษา”และขั้นตอนการแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงแหล่งการเรียนรู้ที่ได้มีการออกแบบ เลือกและนำมาใช้เพื่อมุ่งสู่จุดมุ่งหมายคือ การเรียนรู้ นั่นเอง 

            จากความหมายของสมาคมเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาของสหรัฐอเมริกา ข้างต้น ได้มีการขยายแนวคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษา เพราะการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จากพื้นฐานทางทฤษฎีพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) มาสู่พุทธิปัญญานิยม (Cognitivism) และรังสรรคนิยม (Constructivism) ประกอบทั้งความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอมพิวเตอร์ ได้มีการปรับเปลี่ยนความหมายให้เหมาะสมกับสภาพความเปลี่ยนแปลง 


          เทคโนโลยีการศึกษา หรือเทคโนโลยีการสอน (Instructional Technology) 
หมายถึง ทฤษฎีและการปฏิบัติเกี่ยวกับการออกแบบ การพัฒนา การใช้ การจัดการและการประเมินผลของกระบวนการและแหล่งการเรียนสำหรับการเรียนรู้ (Seels,1994)
           จากความหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า แหล่งการเรียนอาจจำแนกได้เป็นสาร (Message) คน (People) วัสดุ (Materials) เครื่องมือ (Devices) เทคนิควิธีการ (Techniques and Setting) กระบวนการในการวิเคราะห์ปัญหา การสร้างหรือการผลิต การนำไปใช้ (Implementing) ตลอดจนการประเมินการแก้ปัญหานั้น จะกล่าวไว้ในส่วนของการพัฒนาการวิจัยเชิงทฤษฎีการออกแบบ การผลิต การประเมินผล  การเลือก (Evaluation Section) ตรรกศาสตร์(Logistics) การใช้และการเผยแพร่  ส่วนในเรื่องของกระบวนการของการอำนวยการหรือการจัดการ ส่วนหนึ่งจะกล่าวไว้ในเรื่องของการบริหารจัดการองค์กร บุคคล ซึ่งความสัมพันธ์ของส่วนประกอบดังกล่าว แสดงไว้ในโมเดลขอบข่ายของเทคโนโลยีการศึกษาที่จะกล่าวต่อไป
            จากแนวคิดต่างๆ ที่เกี่ยวกับ เทคโนโลยีการศึกษา อาจสรุปได้ว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการที่มีการบูรณาการเกี่ยวกับบุคคล  กรรมวิธี แนวคิด  เครื่องมือ  อุปกรณ์และองค์กรอย่างซับซ้อน  โดยการวิเคราะห์ปัญหา  การผลิตการนำไปใช้และประเมินผลเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์


                                                                                                                                             ที่มา : http://202.29.15.37/innovation/content1.html

3 ความคิดเห็น: